เมนู

อรรถกถาชวสกุณชาดกที่ 8


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภ-
ความอกตัญญูของพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น
ว่า อกรมฺหาว เต กิจฺจํ ดังนี้.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น
แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็เป็นคนอกตัญญูเหมือนกัน แล้วทรงนำ
เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ใน
นครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนกหัวขวานอยู่ในหิมวันต-
ประเทศ. ครั้งนั้นราชสีห์ตัวหนึ่งกินเนื้อ กระดูกติดคอจนคอบวม.
ไม่สามารถจับเหยื่อกินได้ เวทนากล้าแข็งเป็นไป. ลำดับนั้น นกนั้น
เที่ยวขวนขวายหาเหยื่อ เห็นราชสีห์นั้นจึงจับที่กิ่งไม้ ถามว่า สหาย
ท่านเป็นทุกข์เพราะอะไร ราชสีห์นั้นจึงบอกเนื้อความนั้น. นกนั้น
กล่าวว่า สหาย เราจะนำกระดูกนั้นออก ให้แก่ท่าน แต่เราไม่อาจเข้า
ไปในปากของท่าน เพราะกลัวว่า ท่านจะกินเรา. ราชสีห์กล่าวว่า ท่าน
อย่ากลัวเลย สหาย เราจะไม่กินท่าน . ท่านจงให้ชีวิตเราเถิด. นกนั้น
รับคำว่าดีละ แล้วให้ราชสีห์นั้นนอนตะแคง แล้วคิดว่า ใครจะรู้ว่า
อะไรจักมีแก่เรา จึงวางท่อนไม้ค้ำไว้ริมฝีปากทั้งข้างล่างและข้างบนของ
ราชสีห์นั้นโดยที่มันไม่สามารถหุบปากได้ แล้วเข้าไปในปาก เอาจงอย
ปากเคาะปลายกระดูก. กระดูกก็เคลื่อนตกไป. จากนั้นครั้นทำให้

กระดูกตกไปแล้ว เมื่อจะออกจากปากราชสีห์จึงเอาจะงอยปากเคาะ
ท่อนไม้ให้ตกลงไป แล้วบินออกไปจับที่ปลายกิ่งไม้. ราชสีห์หายโรค
แล้ว วันหนึ่ง ฆ่ากระบือป่าได้ตัวหนึ่งแล้วกินอยู่. นกคิดว่า เราจัก
ทดลองราชสีห์นั้นดู จึงจับที่กิ่งไม้ ณ ส่วนเบื้องบนราชสีห์นั้น เมื่อ
จะเจรจากับราชสีห์นั้น จึงกล่าวคาถาที่ 1 ว่า :-
ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอความนอบน้อมจง
มีแก่ท่าน ข้าพเจ้าได้ทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่าน
ตามกำลังของข้าพเจ้าที่มีอยู่ ข้าพเจ้าจะได้
อะไรตอบแทนบ้าง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกรมฺหาว เต กิจฺจํ ความว่า
ท่านสีหะผู้เจริญ แม้เราก็ได้กระทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่าน บทว่า ยํ พลํ
อหุวมฺหเส
ความว่า กำลังใดได้มีแก่เรา เรามิได้ทำอะไร ๆ ให้เสื่อม
เสียจากกิจนั้น ได้กระทำแล้วด้วยกำลังนั้นทีเดียว.
ราชสีห์ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ 2 ว่า :-
ข้อที่ท่านเข้าไปอยู่ในระหว่างฟันของ
ข้าพเจ้าผู้มีโลหิตเป็นภักษาหารผู้กระทำกรรม
หยาบเป็นนิจ ท่านยังรอดชีวิตอยู่ได้นั้นก็
เป็นคุณมากอยู่แล้ว.

นกได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวคาถา 2 คาถานอกนี้ว่า :-

น่าติเตียนคนที่ไม่รู้คุณที่เขาทำแล้ว ผู้
ไม่ทำคุณให้แก่ใคร ผู้ไม่ทำตอบแทนคุณที่
เขาทำไว้ ความกตัญญูย่อมไม่มีในบุคคลใด
การคบคนนั้นย่อมไร้ประโยชน์.
บุคคลไม่ได้มิตรธรรมด้วยอุปการคุณที่
ตนประพฤติต่อหน้า ในบุคคลใด บุคคลนั้น
บัณฑิตไม่ต้องริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อย ๆ
หลีกห่างออกจากบุคคลนั้นไปเสีย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกตญฺญุํ แปลว่า ผู้ไม่รู้คุณที่เขา
กระทำแล้ว. บทว่า อกตฺตารํ ได้แก่ ผู้ไม่ทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง.
บทว่า สมฺมุขจิณฺเณน ความว่า ด้วยคุณที่ทำไว้ต่อหน้า. บทว่า
อนุสฺสุยมนกฺโกสํ ความว่า บัณฑิตอย่าริษยา อย่าด่าว่าบุคคลนั้น
พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากบุคคลนั้น.
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นกนั้นก็บินหลีกไป.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประ-
ชุมชาดกว่า ราชสีห์ในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต ส่วนนกในครั้งนั้น
ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาชวสกุณชาดกที่ 8

9. ฉวชาดก


ว่าด้วยการนั่งที่ไม่สมควร


[524] กิจทั้งหมดที่เราทั้งสองกระทำแล้วเป็น
กิจลามก คนทั้ง 2 ไม่เห็นธรรม คนทั้ง 2
เคลื่อนแล้วจากปกติเดิม คือ อาจารย์นั่งบน
อาสนะต่ำบอกมนต์ และศิษย์นั่งบนอาสนะ
สูงเรียนมนต์.
[535] เราบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีขาวสะอาด
ปรุงด้วยเนื้อ ของพระราชาพระองค์นี้
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ซ่องเสพธรรมนั้น
ที่พวกฤๅษีส้องเสพมาแล้ว.
[536] ท่านจงหลีกไปเสียเถิด ขึ้นชื่อว่าโลก
กว้างใหญ่ แม้คนอื่น ๆ ก็หุงต้นกิน เพราะ
เหตุนั้น อธรรมที่ท่านประพฤติมาแล้ว อย่า
ทำลายท่านเสียเลย ดุจก้อนหินต่อยหม้อ
ให้แตก ฉะนั้น.
[537] ดูก่อนพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ
การได้ทรัพย์ และความประพฤติเลี้ยงชีวิต